องค์การบริหารส่วนตำบลสีมุม
องค์การบริหารส่วนตำบลสีมุม











ขัอมูลทั่วไป

 

ประวัติความเป็นมาองค์การบริหารส่วนตำบลสีมุม

       สภาตำบลสีมุม ได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลสีมุม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เดิมรวมกับตำบลพลกรังและต่อมาได้แบ่งแยกมาเป็นตำบลสีมุม มีหมู่บ้าน จำนวน 10 หมู่บ้าน ปัจจุบันจึงมีพื้นที่การปกครองจำนวน 10 หมู่บ้าน การปกครอง ตำบลสีมุม มีการปกครอง แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเขตการปกครองเป็น 10 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าปกครอง และมีกำนันเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในตำบล ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ส่วนการปกครองรูปแบบที่สองคือการปกครองส่วนท้องถิ่น มีองค์การบริหารส่วนตำบลสีมุมทำหน้าที่บริหารงานราชการในเรื่องของการบริหารการพัฒนาตำบลสีมุม

     บริเวณเขตบ้านสีมุมเดิมเป็นชุมชนโบราณในสมัยขอมเรืองอำนาจ ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมเสื่อมอำนาจลงจึงได้มีสภาพรกร้างไป  และต่อมาก็มีประชาชนเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้อีกรวมกันอยู่จนเกิดเป็นชุมชน ซึ่งประชาชนในบ้านสีมุมแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
       กลุ่มประชาชนโคราชเดิม โดยใช้ภาษาโคราชเป็นภาษาพูดและรวมกันเป็นชุมชนมาตั้งแต่ พ . ศ . 1998 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยกรุงศรีอยุธยา
       กลุ่มประชาชนชาวลาวหลวงพระบาง เมื่อประมาณ พ . ศ . 2093 เจ้าชัยเสนกุมารอนุชาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและสังฆหลักคำลิ้น ได้นำชาวหลวงพระบางอพยพมาจากราชอาณาจักรล้านช้าง ด้วยเหตุผลทางการเมืองเนื่องด้วยการจลาจลแย่งพระราชสมบัติ และมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ติดกับชุมชน
       ตำบลสีมุมมีประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษ โดยมีการเล่าสืบต่อกันมาว่าในอดีต ประมาณ พ.ศ. 2237 มีชาวบ้านจำนวนมากเดินทางรอนแรมมาเป็นกองคาราวาน บางคนเรียกว่ากองทัพชาวลาวเวียงจันทน์ เมื่อกองทัพชาวลาวเวียงจันทน์เดินทางมาถึงที่แห่งหนึ่งเป็นเวลาจวนค่ำทางนายกองก็สั่งให้หยุดทัพ บางคนเรียกว่ารั้งพล บางคนเรียกว่าพลรั้ง ปัจจุบันที่ตรงนั้นเพี้ยนมาเป็น พลกรัง แต่บริเวณที่ตรงนั้นไม่มีสระน้ำกิน นายกองได้พากองคาราวานมากินน้ำที่สระแห่งหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมชาวบ้านเรียกกันว่า สระสี่มุม ต่อมาคำพูดได้เพี้ยนจาก สี่มุม มาเป็นสีมุม มาจนถึงทุกวันนี้
       ตำบลสีมุม ได้แยกออกจาก ตำบลพลกรัง เนื่องจากประชากรเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ. 2536 มาเป็นตำบลสี่มุม เดิมเรียก บ้านสี่มุม โดยเรียกตามชื่อลักษณะของบึง ซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมจึงมาชื่อว่า บ้านสี่มุม ต่อมา ขุนปราณีตพลารักษ์ เป็นกำนัน จึงเปลี่ยนเป็น บ้านสีมุม ในอดีตตำบลสีมุมอยู่ในเขตการปกครองของตำบลพลกรัง มีกำนันคนแรกชื่อกำนันโม่ง ปราณีตพลกรัง คนที่สองคือกำนันบุญเลิศ ปราณีตพลกรังและคนที่สามคือกำนันผาย ปราณีตพลกรัง จนกระทั่ง พ . ศ . 2536 ตำบล สีมุมแยกออกจากตำบลพลกรัง เนื่องจากประชากรเพิ่มมากขึ้น โดยมีกำนันเลิศ เกี้ยวสันเทียะเป็นกำนันคนแรกของตำบลสีมุมหลังจากแยกตัวออกมาจากตำบลพลกรัง ตำบลสีมุมเป็นตำบลหนึ่งใน 24 ตำบลของอำเภอเมืองนครราชสีมา แบ่งการปกครองอ

อกเป็น 10 หมู่บ้าน ประกอบด้วย

หมุู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน หมายเลขโทรศัพท์ จำนวนครัวเรือน ชาย หญิง รวม
1 บ้านดอน นายทองพูน สอสูงเนิน 044-215025 238 396 411 807
2 บ้านสีมุม นางไพศาล ปราณีตพลกรัง - 150 281 285 566
3 บ้านสีมุม นางดารณี ระดาบุตร 044-215121,09-9470735 224 388 390 778
4 บ้านสีมุม นายปัญญา เพียรขุนทด 044-215151 160 264 298 562
5 บ้านสีมุม นายสมัย เตียนพลกรัง 01-7256982 120 215 221 436
6 บ้านสีมุม นายสุรพล ทอนพลกรัง - 181 282 318 600
7 บ้านสีมุม นายสมจิตร เพียรขุนทด 09-8467231 131 247 238 485
8 บ้านแปะ นายปรีชา  เชาว์พลกรัง - 227 448 470 918
9 บ้านทุ่งกระโดน นายสิทธิพร บุญใหม่ (กำนัน) 044-215072 191 322 342 664
10 บ้านมะกอก นายประยุท นาคณรงค์       - 124  219   214 433
รวม 1,747 3,062 3,187 6,249

 

 ลักษณะทั่วไป

       ที่ตั้ง ตำบลสีมุม อำเภอเมืองนครราชสีมา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภออยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 14 กิโลเมตร

       อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบึงอ้อ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านใหม่และตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ  ตำบลพลกรัง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลขามทะเลสอ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา

         
           
    เนื้อที่     ตำบลสีมุมมีเนื้อที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 9,375 ไร

       จำนวนประชากร      ตำบลสีมุมมีทั้งหมด 1,430 ครัวเรือน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 4,443   คน ประชากรรวม 6,175 คน ประกอบด้วย ชาย 3,069 คน หญิง 3,106 คน

       ภูมิประเทศ     ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของตำบลสีมุม เป็นที่ราบสูงพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร มีคลองส่งน้ำชลประทานตัดผ่าน และมีคลองธรรมชาติไหลผ่าน

       การประกอบอาชีพ     ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรและอาชีพรับจ้าง



 ศาสนา     ราษฎรทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ และภายในตำบลสีมุมมีวัดอยู่ทั้งหมด จำนวน 5 แห่ง 2 สำนักสงฆ์ดังนี้

       วัดจำนวน 5 แห่ง
               - วัดสีมุมบูรพารา
               - วัดสีมุมเหนือ
               - วัดสีมุมใต้
               - วัดบ้านทุ่ง
               - วัดบ้านแปะ

 

   สำนักสงฆ์ 2 สำนัก
               - สำนักสงฆ์บ้านทุ่ง ( วัดป่าบ้านทุ่ง )
               - สำนักสงฆ์วัดป่า ( วัดป่าบ้านดอน )

  

ของดีประจำตำบลสีมุม (ภูมิปัญญาท้องถิ่น)

      ของดีปรจำตำบลสีมุมที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นก็คือการทำปูนแดงที่ใช้กินกับหมาก พลู ในอดีตประชาชนจะนิยมกินหมาก ชาวบ้านจึงทำปูนแดงใช้เองในแต่ละครัวเรือน ต่อมาก็เริ่มทำในปริมาณมากขึ้นเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับบ้านใกล้เคียงเช่นนำไปแลกหมู ไก่ เกลือเป็นต้น ต่อมาก็เริ่มผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ จากแลกเปลี่ยนบ้านใกล้ๆ ก็เริ่มขยายพื้นที่ออกไป จากการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของก็กลายเป็นการจำหน่ายโดยใช้วิธีหาบและเดินเท้าเข้ามาขายในตัวอำเภอ ปัจจุบันการคมนาคมมีความสะดวกมากขึ้นจากการเดินเท้าเข้ามาขายปูนแดงในอดีตก็เปลี่ยนมาเป็นใช้รถบรรทุกปูนแดงเข้ามาจำหน่ายแทน ซึ่งสถานที่จำหน่ายปูนแดงก็คือตลาดย่าโมและตลาดสุรนคร ปัจจุบันการทำปูนแดงในตำบลสีมุมมีปริมาณลดลงซึ่งมีสาเหตุหลายประการดังนี้
        - ประชาชนในปัจจุบันไม่กินหมากทำให้ความต้องการปูนแดงในตลาดลดลง
        - วัตถุดิบที่ใช้ในการทำปูนแดงเช่น กรวด ฟืนมีปริมาณลดลง
        - ประชาชนรุ่นหลังนิยมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมทำให้ไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่มีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในการทำปูนแดง

 

  เหตุการณ์สำคัญในอดีตของหมู่บ้าน

      ในอดีตสระสี่เหลี่ยมที่ชาวบ้านเรียกกันว่า สระสี่มุม ต่อมาได้เพี้ยนจาก สี่มุม เป็น สีมุมนั้นปัจจุบันถูกพัฒนาโดยการขุดลอกให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของ ประชาชนภายในตำบลสีมุมซึ่งการขุดลอกนี้ได้กระทำมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง จนกระทั่งเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจเกิดขึ้นเมื่อมีการขุดลอกสระครั้งที่ 3 นี้เมื่อเดือน กรกฎาคม 2542 ได้มีการขุดพบท่อนไม้จำนวน 2 ท่อนซึ่งมีขนาดต่างกันดังนี้
      ท่อนที่ 1 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 เมตร และมีความยาวประมาณ 13.50 เมตร
      ท่อนที่ 2 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.20 เมตร และมีความยาวประมาณ 13.20 เมตร

      ซึ่งในบริเวณที่ตั้งของสระน้ำดังกล่าวไม่ปรากฎว่าจะมีต้นไม้ขนาดใหญ่ตั้งอยู่เลย และบริเวณที่ขุดพบท่อนไม้ดังกล่าวก็เคยมีการขุดลอกมาแล้วถึง 2 ครั้งแต่ก็ไม่พบท่อนไม้ดังกล่าว จนกระทั่งมีการาขุดลอกครั้งที่ 3 ซึ่งขุดลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 4 – 5 เมตร ก็พบท่อนไม้ 2 ท่อนหลังจากที่นำขึ้นมาแล้วชาวบ้านต่างก็พากันมาขอโชค และก็มีผู้โชคดีจากการขอโชคดังกล่าว ซึ่งก็เป็นที่กล่าวขวัญของกลุ่มผู้ที่ชอบเสี่ยงโชคทำให้มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาดูท่อนไม้ดังกล่าว บางคนเมื่อมีโชคก็ซื้อชุดไทย ผ้าสามสีถวาย หรือบางครั้งก็บริจาคเงินในกล่องรับบริจาค ชาวบ้านจึงได้นำเงินดังกล่าวไปสร้างศาลาและศาล และตั้งชื่อศาลนี้ว่า ศาลเจ้าแม่พรายตะเคียนทองและศาลเจ้าแม่สุรีย์ทอง จากการกล่าวขวัญกันปากต่อปากจนทำให้มีผู้เดินทางมาเยี่ยมชมเพิ่มมากขึ้นทำให้มีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เข้ามาทำข่าว และกรมป่าไม้ได้ยืนยันว่าท่อนไม้ที่ขุดพบคือต้นตะเคียนทอง ซึ่งมีอายุประมาณ 1,300 ปี ปัจจุบันต้นตะเคียนทอง 2 ต้นนี้ตั้งอยู่ภายในศาลเจ้าแม่พรายตะเคียนทองและศาลเจ้าแม่สุรีย์ทอง หลังสถานีอนามัยสีมุม ตำบลสีมุม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา